ตำบลตะคุเป็นตำบลเก่าแก่ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ มีชุมชนหนาแน่นตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนมีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเองมีเครือญาติสืบทอดกันมายาวนานก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวตำบลตะคุนับถือศาสนาพุทธร้อยเปอร์เซ็นต์ มีศูนย์รวมใจที่สำคัญของตำบลคือ พระธาตุตะคุ โบสถ์เก่าแก่ ลวดลายฝาผนังสวยงาม หอไตรกลางน้ำ สร้างขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่วัดหน้าพระธาตุ หมู่ที่ ๑ มีบารายที่ยังคงสภาพชัดเจน ๒ แห่ง มีปรางค์สระหินร่องรอยแห่งอริยธรรม และประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษที่ก่อตั้งสร้างเมืองในบริเวณพื้นที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลตะคุ วัดหน้าพระธาตุ ชื่อบ้านตะคุ ปรากฏอยู่ในใบบอกเมืองนครราชสีมา สมัยรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๘๕ ตามความตอนหนึ่งในใบบอกเมืองว่า หลวงประเสริฐคุมขุนหมื่นและไพร่เลี้ยงโคอยู่ ณ บ้านตะคุ ในใบบอกเมืองนครราชสีมามีชื่อบ้านตะคุปรากฎอยู่วัดหน้าพระธาตุ บ้านตะคุ ยังปรากฎตามหลักฐานที่สื่อได้ ซึ่งมีเจ้าอาวาสวัดหน้าพระธาตุ
องค์ที่ ๑ พระครูอินทรีย์สังวรณ์และเป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองปักธงชัย มรณะ พ.ศ. ๒๔๔๒ และจัดให้มีพระราชทานเพลิงศพเมื่อ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ องค์ที่ ๒ พระครูธวัชชัยคุณมุนีและเป็นเจ้าคณะแขวงเมืองนครราชสีมา องค์ที่ ๓ พระครูธวัชชัยคุณและเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอปักธงชัย องค์ที่ ๔ พระครูธวัชชัยคุณอาจ และเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอปักธงชัยท่านมรณภาพ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๘๕
วัดหน้าพระธาตุมีศาสนวัตถุ ศาสนสถานที่เก่าแก่ โดยเฉพาะเจดีย์คล้ายองค์พระธาตุพนม จนไม่ทราบว่าตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด จึงเป็นการแสดงถึงศักยภาพ ความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนแห่งนี้มาตั้งนมนาน ปัจจุบันวัดหน้าพระธาตุจึงเป็นศูนย์รวมอารยธรรม และเป็นศูนย์กลางของความเป็นตำบลตะคุ องค์การบริหารส่วนตำบลตะคุ ได้นำรูปพระธาตุตะคุ เป็นตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลตะคุ เพื่อเชิดชูความยิ่งใหญ่ ความสามัคคีของบรรพบุรุษที่ได้สร้างตำบลตะคุให้เกิดมีจนทุกวันนี้
|